วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชาวอำเภอศีขรภูมิจังหวัดสุรินทร์เห็นปราสาทระแงง อย่างคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก ได้วิ่งเล่นผ่านไปมารอบบริเวณสัญลักษณ์ประจำถิ่นแห่งนี้เสมอ คนนอกพื้นที่มักจะเรียกว่า “ปราสาทศีขรภูมิ” เป็นเทวาลัยในคติฮินดูเหมือน “ปราสาทบ้านพลวง” คำว่า “ระแงง” และ “บ้านพลวง” เป็นชื่อชุมชนที่อยู่รอบปราสาท ผู้คนจึงเรียกโบราณสถานไปตามชื่อหมู่บ้านหรือตำบล ไม่มีใครรู้ชื่อดั้งเดิมที่เรียกกันในสมัยโบราณ ความโดดเด่นของปราสาทระแงงอยู่ที่รูปสลักพระศิวะบนทับหลังที่งดงามสมบูรณ์แบบทีเดียว ความจริงยังมีทับหลังรูปพระกฤษณะประลองกำลังกับคชสีห์ (กรมศิลปากรนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย) รวมอยู่ด้วย ผมไม่สาธยายยืดยาวนัก เพราะว่าในปัจจุบันปราสาทระแงงไม่ได้เป็นสมบัติเฉพาะของชาวสุรินทร์เท่านั้น แต่เป็นของล้ำค่าของคนทั้งประเทศไปแล้ว ช่วงที่เพิ่งสร้างปราสาทแล้วเสร็จเชื่อว่าไม่ได้มีรูปทรงอย่างนี้ น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมในศิลปะเขมรหมดทั้งองค์เหมือนที่พนมรุ้งหรือพิมาย ถ้าสังเกตให้ดีจะพบร่องรอยต่อเติมยอดปราสาทให้มีลักษณะเป็นพระธาตุแบบล้านช้าง มีนักวิชาการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นฝีมือของชาวลาวที่อพยพเข้ามายังอีสานใต้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ แต่ก็ไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นพวกไหน? และทำไม? ในสมัยโบราณการปรับแต่งศาสนสถานมักจะเกิดขึ้นเป็นระยะ มีการขูดลบภาพสลัก ทุบทิ้ง สร้างทับของเดิม ตลอดจนรื้อบางส่วนออกเลยก็มี โบราณสถานฮินดูหลายแห่งในอีสานใต้ก็ถูกดัดแปลงให้เป็นแบบมหายานและหินยาน อาทิ ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่ เป็นต้น การวิเคราะห์สังคมอีสานใต้ในช่วงอันเป็นปัญหานี้เป็นเรื่องยาก แต่ก็น่าสนใจยิ่ง ความที่เคยเป็นสังคมฮินดูหรือมหายานมานาน เมื่อต้องปรับตัวเป็นหินยานก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้ราบรื่นทั้งหมด ต้องเกิดความขัดแย้งบ้างเป็นธรรมดา บางด้านอาจรุนแรงกว่าที่เราคิดไว้ด้วยซ้ำ สังคมอีสานใต้อาจสั่นคลอนจากการถูกชักจูง ครอบงำ และถูกบังคับจนเป็นเหตุให้ผู้คนทิ้งร้างบ้านเมือง แม้กระทั่งการอพยพเข้า-ออกพื้นที่อย่าสับสน ในช่วงที่อาณาจักรล้านช้างเรืองอำนาจ หรือแตกแยกเป็นลาวหลวงพระบาง ลาวเวียงจันทร์ และลาวจำปาศักดิ์ ก็เชื่อว่าได้ส่งผลกระทบต่ออีสานทั้ภาคอย่างกว้างขวางและเกี่ยวข้องพัวพันกันไปหมด การดัดแปลงต่อเติมโบราณสถานถ้าเกิดขึ้นในปัจจุบันอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้นักโบราณคดี เช่น กรณีสร้างวัดทับที่หรือประชิดโบราณสถานที่ของเดิมเป็นแบบฮินดู ซึ่งเป็นปัญหาในหลายพื้นที่ และแทบจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย เพราะความเสียหายได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ความเสียหายที่ว่านั้นนอกจากจะทำลายคุณค่าดั้งเดิมของโบราณสถานแล้ว ยังทำให้หลักฐานที่จะให้ศึกษาเรื่องราวสมัยโบราณสูญหายไปด้วย ผมไม่ต้องการจะตำหนิใคร เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่เห็นเคยมีนักวิชาการที่ไหนมาให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านเลย ทำให้เกิดสภาพที่ใครบอกว่าทำอย่างนี้ดีแล้วก็ว่าดีไปกับเขาด้วย เป็นเรื่องที่ไม่รู้จะโทษใครเหมือนกัน อย่างไรก็ดี ‘อาจารศรีศักร วัลลิโภดม’ นักโบราณคดีอาวุโส มีความเห็นว่า การเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้ย่อมยืนยันได้ว่า บริเวณอีสานใต้มีชุมชนและผู้คนอาศัยกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ได้กลายเป็นเมืองร้างหลังจากที่ขอมเสื่อมอำนาจ ดังที่มีผู้ตั้งทฤษฎีไว้แต่อย่างใด ในอีกประเด็นหนึ่ง การที่อาณาจักรล้านช้างได้เคลื่อนตัวเข้ามายังอีสานใต้ และสั่งให้ปรับแต่งปราสาทขอมเมื่อ ๕๐๐-๖๐๐ ปีที่แล้ว ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ถึงพลังอำนาจและอิทธิพลของล้านช้างที่มีต่อภูมิภาคแถบนี้“...ดินแดนตอนใดมีเสา เป่าแคน แห่นข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก แม่นของลาว...” เป็นคำจำกัดความเรื่องเขตแดนที่เขียนไว้ง่ายๆ ในพงศาวดารลาวมาแต่โบราณ แต่สะท้อนถึงอดีตที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย ……….
ถ้าใครเคยไปนมัสการ “พระธาตุศรีสองรัก” ที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย น่าจะเห็นภาพได้ เพราะพระธาตุองค์นี้ไทยกับลาวจับมือร่วมกันสร้างขึ้นเป็นสักขีพยานตรงพรมแดนระหว่างอยุธยากับล้านช้าง ไม่ได้ใช้ลำน้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนแต่อย่างใด สำเนียงภาษาลาวนั้น แค่เราเดินทางขึ้นเหนือพ้นกรุงเทพฯ ไปไม่ไกล ชาวบ้านชาวเมืองก็เว้าลาวกันหมดแล้ว จะเป็นสำเนียงล้านนาหรือล้านช้างก็ลาวทั้งนั้น เขตไทยแท้ๆ ในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ น่าจะมั่นคงถึงแค่นครรราชสีมาเท่านั้นเอง แต่อิทธิพลของล้านช้างที่แผ่ลงมายังอีสานใต้ก็ไม่น่าจะสามารถดูดกลืนชุมชนเก่าแก่ที่เป็นเขมร เป็นส่วย ให้เปลี่ยนแปลงได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะบางด้านของวัฒนธรรมเขมร-ส่วย ก็มีความเข้มข้นต่างจากลาวอยู่ไม่น้อย การเรียกชาวลาวสองฝั่งโขงนั้น ในอดีตคนภาคกลางมักแบ่งชาวลาวออกเป็นกลุ่มอย่างไม่ค่อยโสภานัก เช่น เรียกคนทางเหนือว่า “ลาวพุงดำ” เพราะนิยมสักยันต์ดำพรืดจากขาไปถึงพุง แล้วเรียกคนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า “ลาวพุงขาว” เพราะไม่ได้สักอะไรไว้ตามตัว เรื่องแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นลาวพุงขาว ลาวพุงดำ หรือเขมรป่าดงอย่างนี้แหละ ในที่สุดแล้วก็กลายเป็นปัญหาใหญ่โตขึ้น เมื่อฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างมายึดดินแดนไปจากเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองทางอีสานขนานใหญ่ มีการออกประกาศให้รวมหัวเมืองต่างๆ ยกขึ้นเป็นมณฑลอีสาน ประกอบด้วย สุรินทร์ อุบลฯ ขุขันธ์ และร้อยเอ็ด ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า “อีสาน” เป็นชื่อเรียกแว่นแคว้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเป็นทางการ ในช่วงนี้เองที่เพิ่งจะมีคำสั่งให้บรรดาเจ้าเมือง ปลัดเมือง และข้าราชการในพื้นที่ระมัดระวังการขึ้นทะเบียนชนกลุ่มต่างๆ บังคับให้บันทึกเป็น “สัญชาติไทย” ทั้งหมด ห้ามเขียนเป็น ลาว เขมร ส่วย จาม ฯลฯ ด้วยเกรงว่าจะเป็นช่องทางให้ฝรั่งเศสใช้เรียกร้องเอาดินแดนทางอีสานไปอีก เมื่อถึงตรงนี้แล้วอยากย้ำว่า เรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เราต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ สมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมในอินโดจีนนั้น พวกนี้ไม่ได้หลับหูหลับตาถือปืนเข้ามาโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่ได้ศึกษาวัฒนธรรมของเราในทุกแแง่ทุกมุมจนมองออกอย่างทะลุปรุโปร่ง มีฝรั่งคนหนึ่งชื่อ ‘โอกุสต์ ปาวี’ (Auguste Pavie) ซึ่งต้องบอกว่าเป็นตัวการสำคัญทีเดียว นายปาวีฝังตัวเข้ามาสำรวจบ้านเมืองทางอีสาน ลาว เขมร เป็นเวลาหลายปี ทั้งจดบันทึก วาดภาพ และทำแผนที่เก็บไว้อย่างละเอียด แล้วจึงสรุปเอาดื้อๆ ว่าดินแดนสยามที่เป็นคนไทยจริงๆ นั้นมีแค่ ๑๖๙,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ส่วนคนพื้นเมืองที่อยู่ทางตะวันออกล้วนแต่พูดภาษาต่างจากเมืองหลวง เป็นลาว ส่วย เขมร ไม่ใช่ไทย การรายงานข้อมูลอย่างนี้เองที่ทำให้ฝรั่งเศสมั่นอกมั่นใจและเดินหน้าหาทางยึดดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงไปจากเมืองไทยให้ได้ ซึ่งหวุดหวิดจะทำสำเร็จเพราะสามารถยึดฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปจนหมดสิ้น ผลงานของนายปาวีจึงสร้างความช้ำใจให้แก่ชาวไทยอย่างไม่รู้ลืม การล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสจึงมีส่วนทำลายความรู้สึกเกื้อกูลและสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดแบบเครือญาติระหว่างบ้านพี่เมืองน้อง ไทย เขมร ลาว ที่เคยดำรงอยู่มาอย่างยาวนานให้แปรเปลี่ยนไป แถมยังทิ้งบาดแผลลึกให้เราต้องรักษาเยียวยามาจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ข้างต้นเพิ่งผ่านพ้นไปร้อยกว่าปีเท่านั้นเอง เราต้องช่วยกันสั่งสอนลูกหลานให้จดจำเหตุการณ์เหล่านี้ ถือเป็นอุธาหรณ์สอนใจว่า ถ้าสังคมไทยแตกแยกเล่นพรรคเล่นพวก หรือสร้างกระแสดูถูกดูแคลนกันเป็น ลาว เขมร แขก ขึ้นมาอีกเมื่อใดละก็ ความวิบัติอย่างบูรณาการย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ...ต้องะวังให้จงหนักทีเดียว